วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การประมาณราคาค่าก่อสร้างอาคาร


การประมาณราคาค่าก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างโดยทั่วไปนั้น มีวิธีประมาณการ 2 วิธี คือ
1. การประมาณราคาโดยละเอียด
2. การประมาณราคาโดยสังเขป
การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างอาคารของทางราชการจะใช้วิธีการประมาณราคาโดยละเอียด การหาปริมาณงานและวัสดุก่อสร้างกระทำโดยวิธีการถอดจากแบบแปลนและรายการก่อสร้างออกเป็นหน่วย ๆ ตามวิธีการและหลักเกณฑ์การถอดแบบหาปริมาณวัสดุเพื่อคำนวณราคากลาง
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นการประมาณการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1. ประมาณการหาปริมาณงานและวัสดุก่อสร้าง โดยวิธีการถอดแบบ
2. ประมาณการหาราคาวัสดุก่อสร้าง
3. ประมาณการหาค่าแรงงานในการก่อสร้าง
4. ประมาณการหาค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการก่อสร้าง ได้แก่ ค่าอำนวยการและดำเนินงาน ค่าดอกเบี้ย ค่ากำไร และค่าภาษีอากร
 
ขั้นตอนในการประมาณราคาโดยละเอียด
1. ทบทวนขอบเขตของโครงการ
2. พิจารณาผลกระทบของสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ในรูปของตัวเงิน เช่น สถานที่ตั้งสภาพการจราจร พื้นที่ว่างที่จะใช้เก็บวัสดุหรือก่อสร้างที่พักรวมทั้งสถานที่ทำงาน เป็นต้น
3. เรียงลำดับและจัดหมวดหมู่ปริมาณงานทั้งหมดตามลำดับการก่อสร้างตามระบบใดระบบหนึ่ง เช่น CSI,CI/SFB หรือ แบบใด ๆ ก็ได้ตามแต่บริษัทนั้นๆ จะเห็นสมควร
4. หาปริมาณงานทุกๆ อย่างทั้งหมดจากแบบโดยละเอียดเรียงตามลำดับหมวดหมู่ทีได้มีการกำหนดไว้
5. ใส่ราคา วัสดุ ค่าแรง อาจจะเป็นค่าแรงแต่ละคน หรือ ค่าแรงเป็นกลุ่มก็ได้ ค่าอุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องมือ
6. ใส่ราคางานพิเศษหรืองานที่ให้ SUBCONTRACTOR รับเหมาช่วงงานบางอย่างไปทำโดยเลือกรายที่เสนอราคาต่ำที่สุด แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมความน่าจะเป็นหรือโอกาสที่จะทำงานเสร็จด้วย ควรทำตารางแสดงรายการที่ผู้รับเหมาแต่ละรายส่งราคามาให้พร้อมเงื่อนไขหรือรายละเอียดต่างๆ ถ้ามี
7. ใส่ราคาที่ผู้ส่งของหรือ SUPPLIER ส่งมาให้พร้อมทั้งทำตาราง เรียงลำดับเอาไว้
8. คำนวณภาษี เงินค้ำประกัน ค่าประกันภัย และ ค่าดำเนินการของทุกๆ รายการที่เกี่ยวข้อง และทำตารางเพื่อเปรียบเทียบภายหลัง
9. อย่าลืมเพิ่มรายการเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ด้วย
10. ต้องการกำไรเท่าใดให้ใส่ลงไป
11. รวมราคา และ เตรียมยื่นประมูล
 

งานประมาณราคาPDFพิมพ์อีเมล์
เขียนโดย กองแบบแผน   
วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2551
วัตถุประสงค์ของการประมาณราคา อุปสรรค ปัญหาและข้อผิดพลาดในการประมาณราคา และวิธีประมาณราคาก่อสร้างวัตถุประสงค์ของการประมาณราคา

1. ให้ทราบถึงงบประมาณค่าก่อสร้างเพื่อกำหนดราคากลางสำหรับค่าก่อสร้างในโครงการ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการประเมินราคาของผู้รับจ้างในการประมูลงาน
2. เพื่อกำหนดค่างวดงานในการก่อสร้างซึ่งจะประมาณการตามแบบและแผนงานเพื่อกำหนดค่างวดงานและสะดวกในการเบิกจ่ายค่างานในแต่ละงวด หรือในบางกรณีที่จะต้องคำนวณเพื่อหาปริมาณงานที่ทำได้จริงและทำการประเมินราคาเพื่อกำหนดค่างานที่จะจ่ายในงวดนั้น ๆ
3. เพื่อคิดค่างานเพิ่มหรือลดจากสัญญาในงานก่อสร้าง ใช้สำหรับกรณีที่ผู้ว่าจ้างกำหนดให้ผู้รับจ้างทำงานเพิ่มเติมจากที่กำหนดในแบบและข้อกำหนดประกอบสัญญาจ้าง ซึ่งจะต้องทำการประมาณการหาปริมาณงานจากแบบที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมโดยราคาต่อหน่วยที่ใช้ในการคิดราคาเป็นราคาที่แสดงอยู่ในสัญญาจ้างเดิม
4. เพื่อสามารถประมาณราคาขั้นต้น โดยการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยอาจจะมีแบบเพียงแบบร่างที่รับรองแล้ว ยังไม่จำเป็นต้องมีแบบรายละเอียด ทั้งนี้อาจโดยวิธีการคำนวณราคาต่อพื้นที่ใช้สอย (บาท/ตร.ม.) หรือราคาต่อหน่วยการใช้ (บาท/ห้องพัก) เป็นต้น ซึ่งนำมาเป็นข้อมูลในการนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ
5. เพื่อจัดทำเอกสารเสนอราคาก่อสร้างในการประมูลของผู้รับเหมา ทั้งนี้การประมาณราคาต้องทำอย่างละเอียดและรอบคอบ ทั้งนี้หากผิดพลาดอาจทำให้ทางราชการเสียผลประโยชน์ได้

อุปสรรค ปัญหา และข้อผิดพลาดในการประมาณราคา

1. ปัญหาที่ตัวบุคคล
    - เจ้าหน้าที่บางคนมีคุณสมบัติพื้นฐานไม่เพียงพอ เช่น ขาดทักษะความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ ความเข้าใจและความสามารถในการอ่านแบบก่อสร้าง เทคนิคการก่อสร้าง แหล่งที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมด้านวัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องใช้
2. ปัญหาที่ข้อมูลราคา
    - ไม่ได้รับความร่วมมือจากร้านค้าที่สอบถามราคา
    - ใบเสนอราคาไม่ตรงกับราคาซื้อขายจริง
3. กฎระเบียบทางราชการ
    - ไม่สามารถกำหนดราคาได้ตามราคาขายตามท้องตลาด เนื่องจากใช้ราคาควบคุมจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งบางครั้งราคาขายจริงในท้องตลาดและสำนักงบประมาณขยับตัวสูงขึ้นแล้ว
    - วัสดุ มอก.เดียวกัน มีราคาแตกต่างกัน
4. ข้อจำกัดในเรื่องของเวลากับปริมาณงานที่เข้ามา และจำนวนเจ้าหน้าที่คิดราคาไม่สมดุลกัน การประมาณราคาที่เร่งรีบบางครั้งแบบไม่สมบูรณ์ มีการแก้ไขและเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดข้อผิดพลาด
5. มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบและไม่ได้รับการประสาน ทำให้การประมาณราคากับแบบไม่ตรงกัน
6. แบบที่ไม่ชัดเจนทำให้เกิดความล่าช้าในการคิดราคา
7. งานประสานข้างที่ทำไว้แล้วไม่ตรงกับงานที่ออกเรื่องจริง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน ล่าช้า ต้องคิดราคาใหม่
8. วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นกับการปฏิบัติงาน เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ มีไม่เพียงพอ ทำให้งานเกิดความล่าช้า ไม่คล่องตัว
9. เจ้าหน้าที่พิมพ์ พิมพ์ตกหล่น พิมพ์ผิด หรือใส่สูตรคำนวณผิดพลาด เช่น รวมโดยการ SUM ไม่ครบทุกบรรทัด หรือเกี่ยวกับการใช้ทศนิยม การใส่เลขศูนย์เกิน ทั้งนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น รวมถึงเจ้าของงานต้องตรวจสอบงานให้ละเอียดขึ้นก่อนออกงานทุกครั้ง

วิธีประมาณราคางานก่อสร้าง

การประมาณราคาค่าก่อสร้างตามขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการก่อสร้างอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ ดังนี้  

1. การประมาณราคาขั้นต้น
    - การประมาณราคาต่อหน่วยการใช้
      การประมาณราคาโดยวิธีนี้ทำได้โดยการที่ทราบแบบอาคารที่จะใช้ในโครงการทั้งหมด เป็นการคำนวณได้ผลค่อนข้างหยาบโดยมีความคลาดเคลื่อนของผลลัพธ์ 20-30% แต่ใช้เวลาน้อย ทั้งนี้ผู้ประมาณการจะใช้วิธีนับหน่วยการใช้ของอาคาร เช่น งานแฟลตอาจนับจำนวนห้องพัก งานโรงพยาบาลอาจนับจำนวนเตียงคนไข้ผู้ป่วยใน เป็นต้น แล้วคำนวณงบประมาณ 487,994 บาทต่อห้องพัก หรือ 4,879,947 บาทต่อหลัง (ตัวเลขประมาณปี พ.ศ. 2550)
       ทั้งนี้ผู้ประมาณการต้องมีข้อมูลในอดีตมากเพียงพอสำหรับใช้เป็นพื้นฐานในการประยุกต์ใช้ ทั้งนี้การนำข้อมูลมาใช้ต้องคำนึงถึง
        - อัตราเงินเฟ้อในแต่ละปีที่ผ่านมา
        - จำนวนหรือขนาดของโครงการที่ต่างกัน เช่น งานสร้างบ้านพักนายพันจำนวน 1 หลังกับสร้างบ้านพักแบบเดียวกันจำนวน 3 หลัง
        - ค่า FACTOR F (อำนวยการ, กำไร, ภาษี ฯลฯ)  ที่เปลี่ยนไป

ตัวอย่าง กาคำนวณราคาต่อหน่วย
ต้องการทราบงบประมาณในการก่อสร้างอาคารตึกแถวชั้นประทวน 10 ครอบครัว จำนวน 2 หลัง ห้องน้ำ-ห้องส้วม จำนวน 2 หลัง

วิธีประมาณราคา
1. ใช้ราคาข้อมูลอาคารที่มีในอดีตนำมาปรับปรุงโดยยึดเป็นเปอร์เซ็นต์หรือถ้ามีราคาปัจจุบันก็นำมาคิดคำนวณได้เลย ดังนี้
    1.1 ราคาอาคารตึกแถวชั้นประทวน จุ 10 ครอบครัว หลังละ                      4,384,410   บาท
           ราคาไฟฟ้าภายในอาคารตึกแถวชั้นประทวน จุ 10 ครอบครัว หลังละ    272,488   บาท
           ราคาประปาภายในอาคารตึกแถวชั้นประทวน จุ 10 ครอบครัว หลังละ   223,040   บาท
           รวมราคาตึกแถวชั้นประทวน จุ 10 ครอบครัวต่อ 1 หลังเป็นเงิน        4,879,947   บาท
           รวมราคาตึกแถวชั้นประทวน จุ 10 ครอบครัวต่อ 2 หลังเป็นเงิน
                                                                                          4,879,947 x 2 = 9,759,894 บาท
     1.2 ราคาห้องน้ำ-ส้วมหลังละ                                                                   1,069,159   บาท
           ราคาไฟฟ้าภายในหลังละ                                                                      31,759   บาท
           ราคาประปาภายในหลังละ                                                                     80,151   บาท
           รวมราคาห้องน้ำ-ส้วม 1 หลังเป็นเงิน                                                1,181,069   บาท
           รวมราคาห้องน้ำ-ส้วม 2 หลังเป็นเงิน                         1,181,069 x 2 = 2,362,138 บาท
           รวมราคาทั้งสิ้น (1.1 + 1.2) เป็นเงิน                                                12,122,032   บาท
2. คิดค่าระบบสาธารณูปโภค (ถนน,ดินถม,ไฟฟ้า-ประปาภายนอก ฯลฯ) อีกประมาณ 40 % ของราคาที่ประมาณได้ตามรายการข้อ 1 เป็นเงิน 4,848,800 บาท
     รวมราคาตามรายการข้อ 1.2 เป็นเงิน                              12,122,032 + 4,848,800    บาท
                                                                                         = 16,970,832    บาท
     FACTOR (F) (1.2229)                                                   = 16,970,832 x  1.2229
     รวมเป็นเงินทั้งสิ้น                                                         = 20,753,630    บาท
1.2 การประมวลราคาโดยราคาต่อหน่วยพื้นที่หรือหน่วยปริมาตร
      การประมาณการขั้นต้นวิธีนี้มีความถูกต้องใกล้เคียงความจริงมากกว่าการประมาณราคาต่อหน่วยการใช้ โดยปกติแล้วความคลาดเคลื่อนอยู่ในช่วง 15-20% ทั้งนี้ต้องมีแบบร่างที่ดำเนินการได้ แบบที่ร่างแล้วแต่ยังไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียด คืออย่างน้อยควรมีแบบแปลนสถาปัตยกรรมรูปด้าน รูปตัด และข้อกำหนดงานก่อสร้างขั้นต้นแล้ว ซึ่งสามารถนำมาใช้คำนวณพื้นที่ใช้สอยได้ พร้อมจัดทำราคาต่อหน่วยพื้นที่สามารถทำตามแนวทางต่อไปนี้
       1.2.1 คำนวณพื้นที่ใช้สอยในแต่ละขั้น และหาพื้นที่รวมทั้งหมด
       1.2.2 เลือกข้อมูลต้นทุนก่อสร้างอาคารที่มีอยู่เดิม โดยเลือกอาคารที่มีแบบเหมือนกันหรือใกล้เคียงกับโครงการที่ประมาณการอยู่
       1.2.3 เมื่อได้ราคาต่อหน่วยแล้ว ให้ทำการปรับปรุงต้นทุนตามสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงตามเวลา (ในกรณีข้อมูลไม่ทันสมัย ให้เพิ่มเปอร์เซ็นต์ที่เป็นไปได้โดยอาศัยดัชนีราคาค่าก่อสร้างมาปรับปรุงข้อมูล)
        1.2.4 คำนวณราคากลางโดยใช้ต้นทุนต่อตารางเมตรคูณกับพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดจากที่คำนวณมาข้างต้น
        1.2.5 ปรับปรุงราคาเพิ่มลดส่วนประกอบของอาคารของโครงการใหม่กับโครงการเดิมที่นำข้อมูลมาใช้

ตัวอย่าง รายการคำนวณโดยราคาต่อหน่วยพื้นที่
ให้ประมาณราคาอาคารสำนักงาน 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 4,500 ตร.ม. โดยอาคารสำนักงานนี้มีชั้นใต้ดินสำหรับอาคารจอดรถยนต์ จำนวน 1 ชั้น นอกจากนี้ให้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าฉุกเฉินแบบเครื่องยนต์ดีเซลกำลัง 800 KVA จำนวน 1 ชุด พร้อมระบป้องกันอัคคีภัยจำนวน 15 ชุด โดยโครงการนี้ต้องก่อสร้างงานภายนอกอาคารด้วย สมมุติมีข้อมูลก่อสร้างอาคารสำนักงานในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกับที่มีอยู่รวมกับค่าก่อสร้างงานระบบทุกระบบรวมถึงงานตกแต่งด้านสถาปัตยกรรม โดยปรับปรุงให้ทันสมัยแล้วเท่ากับ 12,500 บาท/ตร.ม.

วิธีประมาณราคา
1. คำนวณค่าก่อสร้างพื้นฐานจากข้อมูลต้นทุนเดิม
    ค่าก่อสร้าง                            =  พื้นที่ใช้สอย x ราคาต่อหน่วยพื้นที่ 
                                                =  4,500 (ตร.ม.) x 12,500 (บาท/ตร.ม.) 
    รวมค่าก่อสร้าง                      =  56,250,000  บาท
2. ปรับปรุงราคาเพิ่มเติมจากปกติ
    - เพิ่มเติมชั้นจอดรถใต้ดิน 1 ชั้น                              =         1,500  ตร.ม.
      ค่าก่อสร้างส่วนจอดรถใต้ดินโดยประมาณ               =         4,500  บาท/ตร.ม.
      ค่าก่อสร้างส่วนจอดรถใต้ดิน 1,500 x 4,500            =  6,750,000  บาท
    - เพิ่มเครื่องปั่นไฟแบบดีเซลขนาด 800 KVA จำนวน 1 ชุด
      ราคาพร้อมติดตั้ง                                                    =  1,200,000  บาท 
     - อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน จำนวน 15 ชุด
       เฉลี่ยต้นทุนต่อจุด                                                 =         4,500  บาท
       อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน                                     = 15 x 4,500 = 67,000  บาท
       รวมราคาค่าก่อสร้างเพิ่มเติม                                  = 8,017,500  บาท
3. เพิ่มงานภายนอกอาคาร
    - งานปรับเตรียมพื้นที่ 8,000 ตารางเมตร (ตารางเมตรละ 15 บาท)    = 120,000  บาท
    - งานถมดิน 8,000 ตารางเมตร พร้อมบดอัด 30% สมมติถมดินสูงเฉลี่ย 1 ม. =  8,000 x 1 x 1.3
      คิดเป็นปริมาตรดิน                                     = 10,400  ลบ.ม.
      งานถมดิน (111 บาท/ลบ.ม.)                         = 10,400 x 111 = 1,154,400  บาท                          
    - ถนน ค.ส.ล. 1,200 ตารางเมตร (ตารางเมตรละ 888 บาท)       = 1,065,600  บาท
    - ลานจอดรถยนต์ 1,000 ตารางเมตร (ตารางเมตรละ 888 บาท) =    880,000  บาท
      รวมค่างานก่อสร้างภายนอกอาคาร                                          = 3,228,000  บาท
      รวมค่างานก่อสร้างทั้งสิ้น (ข้อ 1+2+3)                = 56,250,000 + 8,017,500 + 3,228,000
                                                                             = 67,495,500  บาท
       ค่า FACTOR V (1.1978)                                 =  67,495,500 x 1.1978
       รวมเป็นเงินทั้งสิ้น                                          = 80,846,106  บาท

2. การประมาณราคาอย่างละเอียด
    ในขั้นตอนการประมาณราคาอย่างละเอียดต้องดำเนินการดังนี้
    - ตรวจสอบแบบที่ออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมโดยสถาปนิกและทางด้านโครงสร้างรวมถึงระบบงานต่าง ๆ โดยให้วิศวกรคิดคำนวณหาปริมาณงานต่อหน่วย โดยการถอดแบบคิดคำนวณหาปริมาณงานต่อหน่วยนั้นจะแบ่งตามหัวข้อการคิดราคาตามลำดับดังนี้
     1. งานฐานราก
     2. งานโครงสร้าง ค.ส.ล.
     3. งานหลังคา
     4. งานฝ้าเพดาน
     5. งานผนังและฝา
     6. งานตกแต่งผิวพื้นและผนัง
     และรู้แหล่งที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมด้านวัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ และมีการเก็บสถิติข้อมูลด้านต้นทุนงานก่อสร้างไว้อย่างสม่ำเสมอ และปรับตัวเลขให้ทันสมัย ซึ่งสามารถเข้ามาศึกษาได้ในหลักสูตรควบคุมงานก่อสร้าง
     - กำหนดราคากลางของค่าวัสดุและค่าแรงต่อหน่วย โดยยึดถือราคาจากสำนักงานงบประมาณเป็นหลัก
     - เมื่อได้ปริมาณงานและราคาทั้งหมดต่อหลังแล้ว ควรมีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนจัดทำเอกสารเสนอราคา โดยการตรวจสอบอาจทำโดยการเปรียบเทียบกับข้อมูลราคาที่มีอยู่เดิม เช่น ราคาต่อตารางเมตร การตรวจสอบปริมาณเหล็ก ตรวจสอบปริมาณคอนกรีต นอกจากนี้ความผิดพลาดทางการคำนวณ เช่น การใส่จุดทศนิยม หรือจำนวนเลขศูนย์ บางครั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างไม่น่าเชื่อ
     - จัดทำเอกสารเสนอราคาทั้งโครงการประกอบด้วย
     1. การจัดทำบัญชีรายละเอียดประมาณราคา (ยย.5-6)
         บัญชีรายละเอียดสถาปนิกจะเป็นผู้กำหนดและทางประมาณการจะเป็นผู้คิดราคาโดยรายละเอียดประกอบด้วย
         - ราคาค่าก่อสร้างของอาคารต่าง ๆ ในโครงการ
         - ราคาไฟฟ้า-ประปาภายในอาคาร
         - ปริมาตรดินถมรวมถึงราคาค่าถมดิน
         - ถนน ทางเท้าเข้าสู่อาคารของโครงการ (ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ)
         - ไฟฟ้า-ประปาภายนอกอาคาร
         - FACTOR F
         ทำให้ทราบถึงค่าก่อสร้างในโครงการนั้น ๆ อย่างครบถ้วน และนำไปจัดทำแผนจัดหาต่อไป
      2. การจัดทำรายละเอียดคำนวณราคาก่อสร้าง (บรคดาวน์)    
          - รายละเอียด ปริมาณวัสดุ ราคาค่าวัสดุ และค่าแรงของอาคาร ถนน ไฟฟ้าภายใน ประปาภายในแต่ละหลังของทั้งโครงการ
          - รายละเอียดการคิดราคาของงานไฟฟ้า-ประปาภายนอกอาคาร
          - FACTOR F
          ใช้เป็นเอกสารประกอบในการเสนอราคาของผู้รับจ้าง

สรุป
เพื่อให้การคำนวณงบประมาณที่ควรได้รับในการจัดทำโครงการใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ควรสอบถามราคาหรือเก็บสถิติข้อมูลของราคากลางที่เคยทำมา ทั้งนี้ควรคำนึงถึงอัตราเงินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปี รวมถึงการคิดราคา FACTOR F และระบบสาธารณูปโภครวมไว้ด้วย


ความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบอาคาร


เขียนโดย กองซ่อมสิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปโภค   
วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2551
1. ปีกนกหลังคา    ความรู้ทั่วไป
    - เป็นส่วนรอยต่อระหว่างหลังคากับผนังด้านริมของอาคารเรือนแถวและอาคารชุด
    - ลักษณะปีกนกจะเป็น ค.ส.ล.เปลือย ทำให้ในช่วงที่มีฝนตกหนักน้ำฝนจะไหลผ่านด้านข้างของอาคารทำความเสียหายต่อฝ้าเพดานและห้องพักบริเวณริมฝั่งอาคารทั้งสองด้าน
      การแก้ไข  โดยการหุ้มทับส่วนของปีกนกด้วย Metal Sheet ป้องกันการไหลย้อนของน้ำฝนเข้าตัวอาคาร
     ความรู้เฉพาะ
     - ในการออกแบบอาคารที่มีลักษณะของหลังคาริมอาคารที่มีปีกนกจะต้องเพ่งเล็งรายละเอียดส่วนนี้ไว้ด้วย
2. ประตู-หน้าต่างภายในและภายนอกอาคาร    ความรู้ทั่วไป
    - แบบรูปอาคารใหม่ ๆ จะเป็นวัสดุที่ทำจากเหล็ก จะพบปัญหาการผุกร่อนเป็นสนิมโดยเฉพาะในส่วนที่ต้องสัมผัสกับน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำฝนหรือจากห้องน้ำภายในอาคาร
      การแก้ไข  โดยการเปลี่ยนทดแทนใหม่ซึ่งในแต่ละปีต้องใช้งบประมาณในการเปลี่ยนทดแทนเป็นจำนวนมาก
    ความรู้เฉพาะ
    - ควรมีการปรับปรุงแบบรูปรายการอาคารโดยการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำประตู-หน้าต่างที่ทำจากเหล็กไปเป็นวัสดุอื่นที่ไม่เป็นสนิม เช่น ไฟเบอร์กลาส เป็นต้น
3. เสาล่อฟ้าประจำคลัง สป.5 ตามแบบ ทบ.2425    ความรู้ทั่วไป    - ใช้ป้องกันคลัง สป.5 ไม่ให้ถูกฟ้าผ่า
    - ความสูงของเสาล่อฟ้าสูง 24 เมตร
    - ใช้ท่อเหล็กเคลือบสังกะสีขนาด 3 นิ้ว, 2 1/2 นิ้ว, 2 นิ้ว และ 1 นิ้ว เป็นตัวเสา
    - สายนำลงดิน (Ground Conductor) ใช้สายไฟฟ้าทองแดงเปลือยขนาด 70 มม.
    - บ่อสื่อโลกใช้แผ่นทองแดง เกลือและถ่านเป็นสื่อนำ
   ความรู้เฉพาะ
   - บริเวณที่ตั้งเสาล่อฟ้า มักจะพบวัชพืชปกคลุม
   - เสาล่อฟ้าที่พบส่วนใหญ่จะหักบริเวณข้อต่อลดเนื่องมาจากเป็นสนิม
   - ควรมีการปรับปรุงแบบรูปรายการให้ส่วนที่เป็นเสาทำวัสดุที่ไม่เป็นสนิม และปรับปรุงส่วนประกอบของสายไฟฟ้าที่มีการเชื่อมต่อที่ต้องใช้การเชื่อมต่อที่เกิดประกายไฟซึ่งจะมีผลต่อการซ่อมปรับปรุงในภายหลัง
   - ค่าความต้านทานของดินและสายนำลงดินควรมีค่าไม่เกิน 5 โอห์ม
4. ท่อพีวีซี    ความรู้ทั่วไป    - ท่อพีวีซี  ประกอบด้วยสารสังเคราะห์โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl Chloride) สเตบิไลเซอร์ (Stabilizer) และสีนำมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม
    - คุณสมบัติของท่อพีวีซีคือ ทนทานต่อสารเคมีเกือบทุกประเภท ไม่เป็นสนิม ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ น้ำหนักเบา ผิวภายในท่อเรียบ ประสิทธิภาพการไหลของของเหลวสูง ไม่เป็นพิษ ไม่ติดไฟ เป็นฉนวนไฟฟ้า มีความอ่อนตัวสูง ติดตั้งและซ่อมบำรุงง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย
     - ท่อพีวีซี สำหรับน้ำดื่ม มีสีฟ้า มอก.C38 17 - 2522 ชั้นคุณภาพ 5, 8.5, 13.5 KSC
     - ท่อพีวีซี สำหรับงานอุตสาหกรรม มีสีเทา มอก. 999 - 2544 ชั้นคุณภาพ 5, 8.5, 13.5 KSC
     - ท่อพีวีซี สำหรับงานร้อยสายไฟฟ้า มีสีเหลือง มอก. 216 - 2524
     - ท่อพีวีซี สำหรับใช้งานเกษตร มีสีเทา เครื่องหมายบนท่อสีแดง มีชั้นคุณภาพ 5 KSC    ความรู้เฉพาะ
    - การเลือกติดตั้งและใช้งานท่อพีวีซีบนดินกลางแจ้งอายุการใช้งานอาจลดลง เนื่องจากความร้อนของแสงอาทิตย์ และข้อระมัดระวังจากไฟไหม้ เช่น การเผาหญ้าข้างทาง ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนของท่อตระกูลสารสังเคราะห์จากพลาสติก สำหรับการใช้งานในท่อขนาดเล็ก การต่อด้วยข้อต่อและน้ำยาประสานท่อนั้น ผู้ใช้ควรเลือกท่อที่มีชั้นคุณภาพเดียวกันกับข้อต่อและน้ำยาประสานท่อ เพราะขนาดภายในและภายนอกของอุปกรณ์และท่อที่ต่างยี่ห้อกันอาจมีขนาดแตกต่างกันเล็กน้อย ทำให้เกิดปัญหาการเชื่อมต่อท่อได้
5. การป้องกันกำจัดปวกและศัตรูทำลายไม้
    ความรู้ทั่วไป    - ปลวกใต้ดินเป็นศัตรูและภัยร้ายแรงที่สุดที่ทำลายสิ่งก่อสร้างและอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบเป็นไม้ ปลวกมักจะอาศัยตามรอยแยกระหว่างทางเท้ากับผนังอาคาร เสาและคานคอดิน ท่อเดินสายไฟ และบริเวณท่อน้ำทิ้งที่อยู่ติดกับดินเข้าไปทำลายตัวอาคารและทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้พักอาศัยได้
     ความรู้เฉพาะ
     - ในการป้องกันและกำจัดปลวก ควรหมั่นตรวจสอบและดำเนินการป้องกันโดยเน้นจุดสำคัญ ๆ ที่กล่าวข้างต้นเป็นพิเศษ
     - สำหรับอาคารที่จะดำเนินการก่อสร้างใหม่ควรพิจารณาออกแบบระบบป้องกันและกำจัดปลวกไว้ด้วย โดยระบบท่อเพิ่มเติมเข้าไปในแบบรูปด้วยเพื่อให้ง่ายและสะดวกในการป้องกันในอนาคต ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดี รวดเร็วกว่าวิธีอื่น
6. ระบบกันซึมผนังด้านข้างอาคาร    ความรู้ทั่วไป    - อาคารของ ทบ.ที่มีผนังด้านข้างอาคารเป็นคอนกรีตจำนวนมากมักจะพบการรั่วซึมของน้ำในเข้าสู่ภายในอาคารบริเวณพื้นที่ที่ติดกับผนังด้านข้างอาคาร ทำให้เกิดความเสียหายต่อวัสดุอุปกรณ์ของทางราชการและของกำลังพลผู้พักอาศัยในอาคารหลังนั้น
    - กซส.ยย.ทบ.ได้สำรวจตรวจสอบอาคารที่ประสบปัญหาการรั่วซึมบริเวณด้านข้างอาคารและดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการติดตั้งระบบกันซึมโดยใช้สารเคมีเคลือบป้องกันพื้นผิวส่วนที่สัมผัสโดยตรงกับน้ำฝนซึ่งต้องใช้งบประมาณดำเนินการเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
     ความรู้เฉพาะ
     - ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่นการก่อผนังด้วยอิฐบล๊อกที่ละเลย
การนำคอนกรีตใส่ในช่องว่างของอิฐในบางส่วนหรือการขึงเอ็นเกินระยะที่กำหนด เป็นต้น
     - แก้ไขโดยการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการก่อสร้างให้ดำเนินการตามข้อกำหนดอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดข้อบกพร่องจากการละเลยการปฏิบัติ
     - การออกแบบพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการรั่วซึมของน้ำในเข้าสู่ตัวอาคาร ควรเพ่งเล็งเป็นพิเศษในการกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนหรือวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้

7. ถังบำบัดน้ำเสีย    ความรู้ทั่วไป    - ถังบำบัดน้ำเสีย มีระบบการทำงานแยกเป็น 2 ส่วนคือ ถังเกรอะและถังกรองไร้อากาศ
    1. ถังเกรอะ เป็นขั้นแรกในการทำให้เกิดการตกตะกอนให้จมลงสู่ก้นถังและถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรีย ส่วนน้ำที่เหลือจะไหลไปยังส่วนถังกรองไร้อากาศ
    2. ถังกรองไร้อากาศ น้ำที่ไหลมาจากถังเกรอะจะไหลเข้าสู่ส่วนล่างของถังกรองไร้อากาศและจะถูกย่อยสลายโดยตะกอนจุลินทรีย์ จากนั้นน้ำที่เสียจะไหลขึ้นผ่านชั้นตัวกลาง (MEDIA) ที่อยู่ส่วนบนของถังและถูกบำบัดโดยแบคทีเรียก่อนระบายออกสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะต่อไป
    ความรู้เฉพาะ
    1. การติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย จะต้องให้ระดับท่อทางน้ำออกจากถังสูงกว่าระดับท้องรางระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนกลับเข้าถังบำบัด
    2. การติดตั้งจะต้องใส่ข้อต่ออ่อนทั้งท่อน้ำเข้าและออกเพื่อป้องกันการทรุดตัวของถัง
    3. หลีกเลี่ยงการใช้ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำชนิดเข้มข้นเข้าถังบำบัดโดยตรงเพราะจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ตาย

8. การมุงหลังคากระเบื้องลอนคู่หรือลูกฟูก    ความรู้เฉพาะ    1. ต้องมุงให้กระเบื้องทุกแผ่นทับกันสนิท แนวชายกระเบื้องต้องตรงได้ระเบียบ ก่อนเริ่มมุงจะต้องพิจารณาทิศทางลมว่ามีมากทางใด เมื่อทราบทิศทางแล้วต้องตั้งต้นมุงสวนกับทิศทางลม วิธีการมุงให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของโรงงานผู้ผลิตและให้ชายกระเบื้องส่วนที่ซ้อนกันมีความยาว 20 ซม. ทุกแผ่น
    2. การยึดกระเบื้องกับแปชนิดต่าง ๆ
        2.1 ต้องเจาะรูกระเบื้องด้วยสว่าน โดยให้รูโตกว่าสลักเกลียวหรือตาปูเกลียวอีก 1/16 นิ้ว การขันหัวตาปูเกลียวหรือสลักเกลียวอย่าขันให้แน่นจนเกินไป จะทำให้กระเบื้องแตกได้
         2.2 หากกระเบื้องขนาดยาว 1.20 ม. ไม่พอดี ต้องใช้ขนาดยาว 1.50 ม. หรือ 1.80 ม. สำหรับแนวสุดท้ายของกระเบื้องห้ามเอากระเบื้องขนาด 1.20 ม. มาตัดใช้และต้องทำ
         2.3 ขอยึดกระเบื้องชนิดกระเบื้องลอนคู่ ให้ใช้ขอ 2 อันต่อ 1 แผ่น สำหรับชายล่างและชายบนให้ยึดด้วยตะปูเกลียว
         2.4 ตะปูเกลียวหรือสลักเกลียวยึดกระเบื้องต้องเจาะรูกระเบื้องด้วยตอกสว่านขนาดโตกว่าตะปูเกลียวหรือสลักเกลียวที่ยึดประมาณ 1/16 นิ้ว การเจาะรูต้องทะลุทั้ง 2 แผ่นและอยู่ห่างจากปลายข้างกระเบื้องไม่น้อยกว่า 5 ซม.
          2.5 ตะปูเกลียวยึดกระเบื้องลอนคู่ ให้ยึดที่ลอนตัวกลางแผ่นละ 1 ตัว โดยชายข้างกระเบื้องซ้อนทับกันครึ่งลอน (5 ซม.)
          2.6 ตะปูเกลียวยึดกระเบื้องลูกฟูกลอนเล็ก ให้ยึดที่ลอนที่สองแผ่นละ 1 ตัว โดยชายข้างกระเบื้องซ้อนทับกันลอนครึ่ง (9 ซม.)
          2.7 ตะปูเกลียวยึดกระเบื้องลูกฟูกลอนใหญ่ ให้ยึด 2 ตัวที่ลอนที่สองและลอนที่ทำ โดยชายข้างกระเบื้องซ้อนทับกันหนึ่งลอน (7 ซม.)
          2.8 สลักเกลียวยึดกระเบื้องกับแปเหล็กให้ยึดเช่นเดียวกับการมุงด้วยตะปูเกลียว แต่เมื่อยึดกับแปเหล็กแล้วจะต้องยึดให้กันเคลื่อนตัว (รวน) เมื่อถูกลม

9. บ่อพักน้ำสำหรับเครื่องสูบน้ำ    ความรู้ทั่วไป    - เพื่อให้เครื่องสูบน้ำเดินเครื่องได้ดี ต้องจัดทิศทางเข้าสู่ท่อทางดูดได้ดีและสม่ำเสมอ น้ำวนที่มีฟองกาศปนจะทำให้เครื่องสูบน้ำเกิดการสั่นและชำรุดเสียหายทั้งเรือนและใบพัดของเครื่องสูบน้ำเช่นเดียวกับการปั่นป่วนของน้ำที่ปากทางดูดและการจัดตำแหน่งของท่อดูด ความเร็วเฉลี่ยของน้ำปากทางดูดไม่ควรเกิน 0.5 M/S
    ความรู้เฉพาะ
    - การบังคับเปลี่ยนความเร็วและทิศทางของน้ำก่อนเข้าท่อดูดในบ่อพักน้ำใช้วิธีการทำผนังกั้นน้ำ
    - ระดับน้ำต่ำสุดระยะห่างจากพื้นบ่อและผนังบ่อขึ้นอยู่กับขนาดท่อดูด ซึ่งได้จากการคำนวณเพื่อป้องกันการเกิดฟองอากาศและน้ำหมุนวน

10. วัสดุกันความร้อน       ความรู้ทั่วไป
       - อาคารที่ก่อสร้างในอดีตที่ผ่านมามักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับระบบป้องกันความร้อนภายในอาคาร
       - จากปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันทำให้สภาพอากาศภายนอกอาคารเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร โดยเฉพาะจากหลังคาทั้งอาคารสำนักงานและอาคารที่พักอาศัยของกำลังพลและที่สำคัญอย่างยิ่งอาคารที่เป็นคลังเก็บยุทโธปกรณ์และ สป.5 ซึ่งจะต้องมีการควบคุมสภาพอุณหภูมิภายในอาคารให้อยู่ในสภาพที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านั้น
        - ที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงอาคารต่าง ๆ โดยติดตั้งวัสดุกันความร้อนให้กับหลังคาของอาคารจำนวนมากและคาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอ ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบ และกฎหมายในการประมาณราคางานราชการด้วยได้หรือเปล่าค่ะ ขอบคุณมากๆ ค่ะ jiraponcha@grandhomemart.com
    จิราพร 086-345-1076

    ตอบลบ